วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แกะรอยสุลต่านดูไบ ผู้เปลี่ยนแผนที่โลก


Dubai Towers


ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก ที่ ดูไบ

โรงแรมหรูหรา ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Dubai Towers

อภิมหาโปรเจ็คยักษ์ใหญ่ Dubai Renaissance

ปาล์มไอซ์แลนด์ เกาะรูปต้นปาล์ม ที่ ดูไบ

เกาะกลางทะเล ที่ ดูไบ

โรงแรมหรู


          ทำเนียบผู้บริหารธุรกิจระดับโลก ต้องบันทึก ชื่อ สุลต่าน อาห์เหม็ด บิน สุลาเยม แห่งดูไบ ไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัยแล้วยังต้องจับตามองด้วย เพราะเพียงคำขู่ว่า จะถอนเงินลงทุนออกจากยุโรปทั้งหมด ถ้าสหภาพยุโรปออกกฎหมายควบคุมการลงทุนของบริษัท ดูไบ เวิลด์ ซึ่งตนเป็นประธานอยู่


          แค่นั้นสหภาพยุโรปยังต้องร้องเพลงถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า ปล่อยให้ความคิดนั้นหายไป เหมือนจะบอกสุลต่านว่าไม่เคยมีความคิดนั้นอยู่เลยคนที่สหภาพยุโรปเกรงใจนี้ เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับให้เงินศึกษาโครงการเชื่อมภาคใต้ตอนบน ระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งอยู่ในฝันมาตั้งแต่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี


          หลังเป็นแขกรับเชิญอดีต นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ปาฐกถาหัวข้อ ประสบการณ์การปฏิรูปของดูไบ เมื่อในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เสียงที่ดังกว่าปาฐกถาก็คือ เสียงขานรับโครงการฝันแลนด์ บริดจ์ของสุลต่านดูไบนั่นเอง

          ความชัดเจนในเรื่องนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมบอกว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กลุ่มดูไบ เวิลด์ ของสุลต่าน เข้ามาศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง คาดว่าการศึกษาจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ค่าใช้จ่ายในการศึกษาประมาณ 200-300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายนี้ บริษัทดูไบ เวิลด์เป็นผู้จ่ายให้เปล่า โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ  

          เส้นทางศึกษาเพื่อเนรมิตแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเชื่อมทางบกนั้นมี 3 เส้น คือ ขนอม กระบี่ ขนอม พังงา และสงขลาสตูล

          สุลต่าน อาห์เหม็ด บิน สุลาเยม แสดงทรรศนะต่อเรื่องนี้ โดยมองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า จะช่วยเพิ่มทางเลือกและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งจีน อินเดีย และประเทศใกล้เคียงไทยนอกจากจะใช้เป็นเส้นทางการค้าแล้ว ยังเพิ่มงานและเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนเข้ามาอีกด้วย

          สุลต่านดูไบผู้เหินหาวมาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งไทย เกิดเมื่อปี ค.ศ.1955 ที่ดูไบ การศึกษาจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักธุรกิจเลือดใหม่ของดูไบ มีธุรกิจในความดูแลหลายประเภท และหลายประเทศทั่วโลก ผลงานสร้างสรรค์มาแล้ว เป็นต้นว่า ภายใต้ บริษัทชื่อ นัคฮีล พร็อบเพอร์ตี้ ได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 3 โครงการคือ The Palm Jumeirah, The Palm Jebel Ali และ The Palm Deira

          ทั้ง 3 โครงการนี้ ประกอบด้วยบ้านพักอาศัย ศูนย์การค้า สถาน บันเทิงพร้อมสรรพ สามารถดูดคนจากประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าอยู่อาศัย แต่ผลงานที่โลกตะลึงคือ โครงการเนรมิต เดอะ ปาล์ม ไอร์แลนด์ สร้างเกาะรูปต้นปาล์มขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งประเทศดูไบ ด้วยเงินประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกาะนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ อันดับ 8 ของโลก เกาะมหึมาแห่งนี้เหมือนอยู่ๆ โผล่ขึ้นมาจากทะเล ทำให้ แผนที่โลกที่เคยใช้กันอยู่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างมิต้องสงสัย

          นอกจากนี้ ยังเคยซื้อกิจการท่าเรือของ พี แอนด์ โอ ในราคา 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทท่าเรือของอังกฤษ และยังมีบริษัทในเครือชื่อ ดูไบ ดรายด็อกซ์ ที่เข้าครองหุ้นกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทต่อเรือซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นของสิงคโปร์

          ปัจจุบัน สุลต่าน อาห์เหม็ด บิน สุลาเยม เป็นประธานกรรมการ บริษัท ดูไบ เวิลด์ และบริษัทในเครือข่ายอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น บริษัท ดีพี เวิลด์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกิจการท่าเรือ ดำเนินกิจการในดูไบ จีน และอีกหลายประเทศ ได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทผู้ดำเนินการด้านท่าเรือชั้นนำของโลก มีธุรกิจการพนัน มีหุ้นใหญ่ในลาสเวกัสและในบ่อนอื่นๆ

          กล่าวอย่างรวบรัด บริษัทในมือของสุลต่าน มีธุรกิจครอบคลุมทุกสาขา ทั้งอสังหาริมทรัพย์ คมนาคม การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน การเดินเรือสมุทร โรงพยาบาล การแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค และการค้าปลีก มีบริษัทในเครือนับ 100 แห่งทั่วโลก ประมาณการว่า มีทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ พนักงานกว่า 1 แสนคน

          สำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ข้อมูลจากรายชื่อกลุ่มทุนข้ามชาติของไทยระบุว่า บริษัทดูไบ เวิลด์ สนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และรีสอร์ต การเข้ามาลงทุนในไทย อาจเข้าหุ้นกับบริษัทในเครือชินวัตรในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

          โครงการที่คนไทยจับตามองอยู่คือ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยง ท่าเรือฝั่งอ่าวไทยหรือโครงการแลนบริดจ์ ประเดิมด้วย บริษัทดูไบ เวิลด์ เสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา

          สาเหตุที่สุลต่านดูไบสนใจลงทุนประเทศไทย สุลต่านโปรยยาหอมว่า เศรษฐกิจประเทศไทยมีความมั่นคง และมีอัตราการเติบโตดีกว่าประเทศใกล้เคียง ประกอบกับบริษัทดูไบ เวิลด์ ได้ประกอบธุรกิจขนส่ง การบริหารท่าเรือ ที่แหลมฉบังอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้

          แถมยังมองปัญหาภาคใต้ว่า ถ้าประชาชนในพื้นที่อยู่ดีกินดี ประเทศมีเศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรง คนมีงานทำ ผู้ก่อการร้ายก็จะหมดไป อย่างดูไบที่ไม่มีผู้ก่อการร้ายก็เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเพราะผู้นำรัฐสนับสนุนให้เกิดกลุ่มธุรกิจสร้างงาน สร้างรายได้ จนมีนักธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นปีละหลายล้านคน

          ท่าเรือดูไบ แต่เดิมเรือสินค้าจอดได้แค่ 2 ลำเท่านั้น ต่อมารัฐบาลได้พัฒนาพื้นที่ สร้างท่าเรือขึ้นรองรับเรือสินค้าจากทั่วโลกเป็น 200 ลำ และปัจจุบันดูไบมีท่าเทียบเรือถึง 46 ท่า มีบริษัทเข้ามาดำเนินกิจการ เกิน 5,000 แห่ง

          โครงการแลนด์บริดจ์ที่ค้างคา เมื่อสุลต่านดูไบมาสานฝันให้ เรื่องฝันที่เป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากของคนไทย ตรง ที่รู้หรือยังว่าสิ่งที่คิดว่าจะได้นั้น...ต้องแลกกับอะไรไปบ้าง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น